พัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย
พัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทยตำราต่างๆได้เขียนไว้นั้นได้แบ่งการพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทยไว้ 2 ยุค คือ พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคก่อนการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 และยุคหลังการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอสรุปภาพรวมพัฒนาการกฎหมายมหาชน ออกเป็น 4 ยุคด้วยกัน ดังนี้
1.พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคระบบศักดินา
2.พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5
3. พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
4.พัฒนาการกฎหมายมหาชนไทยในอำนาจนิยมและยุคการปฏิรูปการเมืองไทยถึงปัจจุบัน
1.พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคระบบศักดินา
พัฒนาการกฎหมายมหาชนในยุคแรกที่เรียกว่ากฎหมายมหาชนไทยในกระแสศักดินาเริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่สืบสายมาจากราชวงศ์สุวรรณภูมิ ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีการปกครอง แบบจตุสดมภ์ คือ ตั้งเป็น กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา และนำแนวความคิดระบบศักดินามาใช้ ซึ่งเป็นระบบคุมกำลังคนในเวลารบและเวลาสงบมาใช้ โดยออกฎหมาย 2 ฉบับคือ พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนกับพระอัยการตำแหน่งทหารหัวเมือง กำหนดให้คนไทยทุกคนยกเว้นพระมหากษัตริย์ คนไทยทุกคนไม่ว่าชนชั้นสูงแค่ไหนจนกระทั่งถึง ทาส จะต้องมีศักดินา คือ มีนาตามศักดิ์ เช่น ทาสมีศักดินา 5 ไร่ ไพร่ราบมีครัวมีศักดินา 25 ไร่และ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่หม่อมขึ้นไปมีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระมหาอุปราช จะเป็นหน่อพุทธางกูรก็ตาม ถ้าทรงกรม มีศักดินา 100,000 ไร่(ทรงกรม นั้นหมายถึง พวกเจ้าต่างกรม กล่าวคือ เจ้านายที่โตพอแล้ว พอที่จะบังคับบัญชาไพร่พลได้ ก็ได้รับอนุญาตให้ตั้ง กรม ขึ้นในบังคับบัญชา) ระบบศักดินานั้นอยู่บนพื้นฐานความคิดง่ายๆคือ เอาศักดินาของผู้มีศักดินาเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยศักดินาของไพร่ราบมีครัว เช่นพระมหาอุปราชทรงกรมมีศักดินา 100,000 ไร่ ก็เอา 100,000 ตั้งหารด้วย 25 ก็ได้ความว่าจะต้องมีไพร่พลในกรมที่สังกัด 4,000 คน ไพร่พลเหล่านี้ที่สังกัดเรียกว่า กรม ยามสงบต้องเข้าเวร คือ ต้องมาอยู่กับเจ้าขุนมูลนายเป็นเวลา 6 เดือนต่อปี ต้องเอาข้าวมากินเองด้วย ให้มูลนายใช้กำลังฟรีๆ เวลาสงครามพระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงไปเกณฑ์ ออกหมายรับสั่ง พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่มีศักดินามูลนายเหล่านั้นมีหน้าที่ไปเกณฑ์ไพร่พลผู้ชายมาให้ได้ตามจำนวนที่ตนต้องรับผิดชอบ เช่น สมเด็จพระมหาอุปราชก็ต้องไปเกณฑ์มา 4,000 คน (100,000 หาร 25 เท่ากับ 4,000)ประกอบขึ้นเป็นกองทัพแล้วไปสู้รบกับข้าศึก
ระบบศักดินานี้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์ระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์ คือ ค่าของคนอยู่ที่การเป็นคนของใคร ถ้าเป็นไพร่ในสังกัดเจ้านายองค์ใดที่เจ้านายรุ่งเรืองเฟื่องฟู ไพร่ก็จะเฟื่องฟูไปด้วย เพราะว่าใครจะมารังแก ใครจะมาทำอะไรให้ขัดใจไม่ได้ เพราะถ้าขัดใจหรือรังแกไพร่ในสังกัดที่เจ้านายเฟื่องฟู ตัวมูลนาย (เจ้านาย) ก็จะออกมาปกป้องไพร่และเป็นเหตุให้มูลนายของอีกฝ่ายหนึ่งที่มีบารมีน้อยว่าต้องยอม และที่สำคัญในเวลาสงบไพร่ไม่ยอมมาเข้าเวรก็ได้ แต่ต้องเอาส่วยมาส่ง อยู่เมืองเหนือก็เอาช้างหรืองาช้างมาส่ง เมืองใต้ก็เอาดีบุกมาส่ง เป็นต้น เพื่อที่จะให้มูลนายเอาทรัพย์สินที่เป็นส่วยเหล่านั้นเข้าพระคลังสินค้า แล้วพระคลังสินค้าเอาไปขายต่อให้กับต่างประเทศที่ค้าขายกับไทย เช่น เมืองจีน เมืองฝรั่งเป็นต้นนี่คือระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์คือมูลนายปกป้องลูกน้องแล้วใช้ลูกน้องหาผลผลิตทางเศรษฐกิจให้ตัวเอง เช่น ลูกน้องทำ 100 ลูกน้องอาจจะได้ประโยชน์แค่ 20 อีก 80 ต้องให้มูลนาย
2. พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5
พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเกิดขึ้นจากจากกระแสโลกาภิวัฒน์หรือเรียกว่ายุคล่าอาณานิคมตะวันตก โดยเริ่มจากการที่ไทยทำสนธิสัญญาเบาวน์ริ่ง (พ.ศ. 2398) กับอังกฤษ เป็นสนธิสัญญาซึ่งทลายระบบการค้าผูกขาดโดยพระคลัง สินค้าหรือโดยพระมหากษัตริย์ ให้พ่อค้าอังกฤษสามารถที่จะเข้าซื้อตรงจากประชาชนได้ เป็นสนธิสัญญาแรกที่เปิดการค้าเสรีขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย เมื่อมีการเปิดระบบการค้าผูกขาดโดยรัฐเป็นการค้าเสรีแล้วเก็บภาษีที่เรียกว่า ภาษีปากเรือ หรือภาษีร้อยชักสาม แทนสิ่งที่ตามมา คือ รายได้ของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดินที่รัชกาลที่ 3 เคยหาด้วยการค้าสำเภาและส่งของไปขายเมืองจีน เมืองแขกนั้น ไม่มีการหารายได้ด้วยการค้าของรัฐโดยตรงต้องเก็บภาษีเอา ส่วนในระบบการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะปัจจัยการผลิตพื้นฐานคือที่ดินและทรัพยากรอื่นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามระบบกฎหมายที่ยอมรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของบุคคลเหนือพื้นดิน โดยถือว่าในแว่นแคว้นนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
ซึ่งในอดีตก่อนหน้านั้นไทยมีธรรมเนียมว่าที่ดินจะไม่มีกรรมสิทธิ์แก่บุคคล แต่สิทธิที่มีคือ สิทธิการใช้ ดังจะเห็นได้จากกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จเช่น ถ้าเป็นที่นาผู้มีสิทธิการใช้ทิ้งไป 1 ปีหรือ 2 ปี ก็จะขาดสิทธิ เสนานายระวางก็จะจัดคนอื่นเข้าไปทำกินแทนได้ ถ้าเป็นที่ไร่ ที่สวน ไม้ยืนต้นหรือที่บ้านสวน ทิ้งไป 9 ปี 10 ปี เสนานายระวางก็จะจัดคนอื่นเข้าไปทำกินเพื่อเก็บอากร เพราะฉะนั้นสิทธิที่มีอยู่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นสิทธิทำกินเหนือพื้นดิน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์
แต่เมื่อมีการค้าเสรีโดยรัฐเลิกการค้าแล้วให้ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น เข้าซื้อโดยตรงกับประชาชนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตคือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่น มีที่ดินเป็นต้น ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ทรงปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์โดยการออกพระราชบัญญัติโฉนดที่ดิน ยอมรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
นอกจากยอมรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว ระบบโลกาภิวัฒน์ใน พ.ศ. 2398 นำมาซึ่งการเปลี่ยนระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่า ป่าไม้ (โดยเฉพาะไม้สัก) ในเมืองเหนือ เหมืองแร่ (โดยเฉพาะแร่ดีบุก) ในเมืองใต้ เดิมอยู่ในอำนาจของเจ้าเมืองหัวเมือง แต่เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาวน์ริ่ง ฝรั่งสามารถเข้าไปติดต่อกับเจ้าเมืองได้โดยตรงได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าเมืองเอาป่าไม้บ้าง เอาเหมืองแร่บ้าง ไปให้สัมปทานกับประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น และเนื่องจากระบบการรังวัดยังไม่มี สัมปทานก็ทับซ้อนกัน เมื่อการสัมปทานทับซ้อนกันประเทศตะวันที่ได้สัมปทานที่ทับซ้อนกันนั้นเกิดความขัดแย้งขึ้น เป็นเหตุให้มีข้ออ้างในการเมือง เพราะเจ้าเมืองที่ให้สัมปทานนั้นทำผิดกติกา ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ออกพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งซึ่งเป็นต้นเค้าของกฎหมายที่เรียกว่า สัญญาทางปกครอง คือ พระราชบัญญัติสัญญาไปรเวทและสัญญาปับลิก โอนอำนาจการสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ ระบบสาธารณูปโภค เช่น การขุดคูคลอง ทำถนน ทำรถไฟทั้งหมด เข้าสู่พระราชอำนาจ คือ เข้าสู่อำนาจส่วนกลาง กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า ถ้ามีการขุดคลอง จะให้สัมปทานป่า สัมปทานเหมืองแร่ จะต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อนหาไม่สัญญาจะใช้บังคับไม่ได้
นอกจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการการยอมรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรแล้ว การคุมกำลังคนของบ้านเมืองก็ต้องเลิก เลิกระบบทาสและระบบไพร่ การเลิกทาสเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2417และมาเลิกระบบไพร่ในประมาณปี พ.ศ. 2440เศษ เมื่อมีกองทัพถาวรขึ้นแล้ว
นอกจากนั้นในทางกฎหมาย เนื่องจากสนธิสัญญาเบาวน์ริ่งสถาปนาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตขึ้นและต่อมามหาอำนาจทั้งยุโรปและเอเชียก็เอาตามอีกรวมทั้งสิ้น 15 ประเทศ คือ ไม่ยอมขึ้นศาลไทย ไม่ยอมใช้กฎหมายไทยเป็นเหตุให้ รัชกาลที่ 5 ต้องปฎิรูประบบศาลและกฎหมายขนานใหญ่ อันเป็นที่มาของการตั้งศาลยุติธรรม อันเป็นที่มาของการจัดทำประมวลกฎหมายในระบบกฎหมาย ซิวิลลอว์และอันเป็นที่มาของการเปิดสอนกฎหมายแบบใหม่โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตามมาหลังการปฏิรูประบบกฎหมายคือ การปฏิรูประบบราชการ
การปฏิรูประบบราชการ นี้เป็นผลมาจากที่เจ้านายและขุนนางทั้งสิ้น 13 พระองค์ ที่ไปเรียนอยู่ที่อังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง เข้าชื่อกันถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยโดยให้มีรัฐธรรมนูญ ทรงปรับปรุงระบบราชการเสียใหม่ เปลี่ยนจากจตุสดมภ์ที่ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 400 ปี เป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการเปลี่ยนจตุสดมภ์เป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม ก็คือ ทรงนำระบบเสนาบดีมาใช้ ระบบเสนาบดีนั้นเป็นระบบ ที่คิดขึ้นเพื่อให้เสนาบดีทำราชการต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ แต่ต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงไปทรงราชการเอง เรื่องใดก็ตามจะไม่มาถึงพระมหากษัตริย์ แต่ผ่านทางเสนาบดีทั้งหลายก่อน เมื่อคณะเสนาบดีมีปัญหาจึงจะกราบบังคมทูลพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย พระมหากษัตริย์ยังทรงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จะตั้งหรือถอดเสนาบดีได้ และที่สำคัญระบบราชการก็ถูกเปลี่ยนจากระบบขุนนางกินเมืองมาสู่ระบบข้าราชการกินเงินเดือน มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองขนานใหญ่ จากการปกครองแบบกระจายอำนาจดั้งเดิมมีเมืองท้าวพระยามหานครก็เลิกระบบนั้นเสีย แล้วมาตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมาแทน (ซึ่งเป็นการปรับระบบภูมิภาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย) ด้วยเหตุว่าก่อนหน้านั้นเจ้าเมืองมีอำนาจเด็จขาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ศึกษาการปกครองหัวเมืองของอังกฤษ ของฝรั่งเศส ในพม่า ในอินโดจีน ในมาเลเซีย ในสิงคโปร์ ทุกอย่าง แล้วทรงตัดสินพระทัยเลือกระบบที่ใช้ในฝรั่งเศส คือ ระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยส่งข้าราชการที่เรียกว่าข้าหลวงเทศาภิบาลออกไปจากส่วนกลาง คือมหาดไทยไปยกเลิกระบบนายบ้านแต่เดิมซึ่งเป็นคนของเจ้าเมือง สถาปนาระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 โดยให้ชาวบ้านเป็นคนเลือก แต่เลือกแบบเปิดเผยตามที่นายอำเภอที่เรียกว่า หัวหน้าแขวง ซึ่งเป็นคนจากส่วนกลางไปจัดการให้เลือก
กล่าวโดยสรุป พัฒนาการระบบกฎหมายมหาชนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง เป็นระบบกฎหมายมหาชนที่สร้างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโดยการยอมรับกรรมสิทธิ์ โดยการปลดปล่อยแรงงานซึ่งเป็นทาสและไพร่ให้เป็นแรงงานเสรี
ประการที่สอง เป็นระบบกฎหมายมหาชนที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างรัฐชาติ (Nation Stae)
3.พัฒนาการกฎหมายมหาชนยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 กำหนดให้อำนาจในการปกครองประเทศนั้นเป็นของราษฎรเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในการรับอิทธิพลของกฎหมายมหาชนตามแนวคิดของตะวันตก คณะราษฎรกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงอนุโลมตามคำร้องขอกฎหมายมหาชนในยุคนี้เรียกว่า เป็นกฎหมายมหาชนไทย ณ ทาง สองแพร่ง เกิดการต่อสู้กันระหว่างสองกระแส คือ
กระแสที่หนึ่ง คือ การต่อสู้เพื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยคณะราษฎรสายพลเรือน มีท่าน ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ
กระแสที่สอง คือ การต่อสู้เพื่อดึงการปกครองไทยกลับสู่ระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์แบบเดิม ซึ่งมีคณะราษฎรสายทหาร โดยเฉพาะจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ พ.ศ.2475-2489 ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางความคิดกันอย่างรุนแรงในทางการเมือง เพราะฉะนั้นกฎหมายมหาชนในยุค พ.ศ.2475-2489 จึงมีลักษณะผสมเป็นทวิภาคี คือ บางส่วนเป็นประชาธิปไตย บางส่วนเป็นเผด็จการ ซึ่งสังเกตได้จาก รัฐธรรมนูญไทยช่วง พ.ศ.2475-2489 จะมีลักษณะกฎหมายมหาชนทวิภาคี คือ กฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่งถ้ามีแรงผลักดันมาจากคณะราษฎรสายพลเรือน ก็จะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย แต่กฎหมายมหาชนอีกสายหนึ่ง ถ้ามีแรงผลักดันจากคณะราษฎรสายทหารซึ่งนิยมอำนาจนิยม ก็จะมีลักษณะเผด็จการ
ตัวอย่างเช่น กฎหมายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คือ พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นความพยายามของคณะราษฎรสายทหาร
ดังนั้น นิติศาสตร์ไทยก็จะมีลักษณะโน้มเอียงไปทางทวิภาคีเหมือนกัน คือ มีการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนกัน แต่ไม่เต็มที่ ระบบศาลไทย ก็อยู่ในทวิเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อก่อนนี้มีประกาศพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้าว่า ถ้าบุคคลใดฟ้องหน่วยราชการ ศาลจะหมายเรียกส่วนราชการมาเป็นจำเลยได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากกระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นจำเลยแล้ว มิฉะนั้นต้องขอพระบรมราชานุญาต เพราะทั้งศาลและกระทรวงต่างๆ ก็อยู่ในพระราชอำนาจเดียวกัน ซึ่งเป็นพระราชโองการตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย ศาลไทยก็ยังปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา
ตัวอย่างเช่น มีการฟ้องร้องกันในปี 2491 ศาลไทยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงทางปฏิบัติ คือ ยังต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงทบวงกรมนั้นอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลไทยติดธรรมเนียมอำนาจนิยมแบบเก่า จนกระทั่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลทรงไว้ซึ่งสิทธิในอันที่จะฟ้องส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ให้รับผิดชอบ เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นการเขียนบีบให้ศาลรับฟ้อง
4.พัฒนาการกฎหมายมหาชนในอำนาจนิยมและการปฏิรูปการเมืองถึงปัจจุบัน
พัฒนาการกฎหมายมหาชนในยุคนี้จะมี 2 ช่วง คือ ช่วงปี 2490-2540 จะเป็นกฎหมายมหาชนในอำนาจนิยมและช่วงปี 2540 ถึงปัจจุบันเป็นกฎหมายมหาชนในกระแสการปฏิรูปและจุดเปลี่ยนกฎหมายมหาชนไทย
4.1 พัฒนาการกฎหมายมหาชนช่วงในอำนาจนิยม
พัฒนาการกฎหมายมหาชนช่วงในอำนาจนิยม มหาชนไทยถูกครอบงำไป
ในทางแพร่งอำนาจนิยม เพราะเหตุมีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้ ก็ย่อมใช้อำนาจปกครองประเทศในระบอบปฏิวัติ มีสิทธิยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีสิทธิจะออกกฎหมายได้ คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ เป็นต้น และเป็นธรรมเนียมในการออกกฎหมายโดยประกาศคณะปฏิวัติเรื่อยมาตั้งแต่บัดนั้นจนมาถึงปัจจุบัน กฎหมายมหาชนในยุคอำนาจนิยมนั้นจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
การบัญญัติกฎหมายเป็นการใช้อำนาจของระบบราชการ คำนึงถึงความต้องการของระบบราชการเป็นหลัก ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนหรือไม่ เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 วิธีการออกกฎหมายนั้นต่างกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2481 คือ ถ้าจะสงวนป่าใด เจ้าพนักงานกรมป่าไม้ต้องเดินสำรวจ ถ้าพบว่าราษฎรทำกินอยู่ป่าใดและต้องการสงวน ก็ให้เพิกถอนสิทธิ แล้วจ่ายค่าชดเชย ค่าทดแทน และก็สงวน ปรากฏว่าไม่เคยมีการสงวน เพราะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กลัวตาย กลัวมาเลเรีย ก็ไม่ออกสำรวจ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2481 แต่พอมา ภายใต้อำนาจนิยมเผด็จการ กรมป่าไม้ก็เสนอให้มีการสงวนและคุ้มครองป่า โดยออกพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ด้วยการนั่งเขียนแผนที่ในห้องและประกาศเป็นกฎกระทรวง และให้เอากฎกระทรวงนั้นไปติดไว้ที่ทำการอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งหลาย ถ้าราษฎรไม่คัดค้านภายใน 90 วัน ให้ถือว่าสละสิทธิที่ทำกินอยู่ในป่านั้น ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นชัดว่าธรรมเนียมการเขียนกฎหมาย วิธีการดูแล นั้นแตกต่างจากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2481 เพราะเหตุที่ว่าฉันมีอำนาจ ฉันจะขีดเขียนเอาอย่างนี้จะว่าอย่างไร เป็นต้น
4.2 กฎหมายมหาชนกระแสการปฏิรูปและจุดเปลี่ยนกฎหมายมหาชนไทย
กระแสการปฏิรูปการเมืองและจุดเปลี่ยนกฎหมายมหาชนไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเอือมระอาในกฎหมายมหาชนกับอำนาจนิยม ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองทั้งปวง นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง จนกระทั่งมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาและจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ตุลาคม 2540 โดยรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ 3 ประการคือ
ประการที่หนึ่ง ทำการเมืองของนักการเมืองให้เป็นการเมืองของพลเมือง ด้วยการขยายความเสมอภาค ด้วยการเพิ่มประสิทธิเสรีภาพ และท้ายสุดการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเมือง
ประการที่สอง การต้องการที่จะทำให้การเมืองมีความโปร่งใสและสุจริต ด้วยการเพิ่มระบบและองค์กรการตรวจสอบขึ้นถึง 8 องค์กร
ประการที่สาม การทำให้การเมืองซึ่งแต่เดิมเคยไร้เสถียรภาพ เพราะเหตุว่าเป็นรัฐบาลผสม รัฐบาลไทย ตั้งแต่ 2475-2540 (65 ปี) มีจำนวนทั้งสิ้น 53 รัฐบาล ซึ่งอายุเฉลี่ยของรัฐบาลนั้น 1 ปี 2 เดือน ต่อรัฐบาล ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลทำให้บ้านเมืองพัฒนาไม่ได้ จึงมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
นอกจากนั้นกระแสในปี 2540 ยังเชิดชูความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและให้ความสำคัญกับกฎหมายมหาชนในการจำกัดอำนาจรัฐด้วยรัฐธรรมนูญจึงสถาปนาองค์กรที่สำคัญซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้น 8 องค์กร ดังนี้คือ
องค์กรที่หนึ่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คือเปลี่ยนจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมืองให้เป็นศาล
องค์กรที่สอง คือ ศาลปกครองซึ่งถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่เกิด ด้วยเหตุที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมคัดค้านมาหลายรัฐบาล และมาหลายปีมาแล้ว
องค์กรที่สาม คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
องค์กรที่สี่ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
องค์กรที่ห้า คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
องค์กรที่หก คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
องค์กรที่เจ็ด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ
องค์กรที่แปด คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการกฎหมายมหาชนในยุคการปฏิรูปการมีรัฐธรรมนูญ 2540 นับว่ามีการพัฒนาหลักการทางกฎหมายมหาชนไปมาก แต่ก็ยังมีจุดด้อยของการสนับสนุนการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพจนกลายเผด็จการทางรัฐสภาเมื่อรัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) มีอำนาจ ครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติทำให้เกิดการคอรัปชั่น แทรกแซงองค์กรอิสระ ทำให้ระบบการตรวจสอบเกิดปัญหา จึงทำให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค) ทำให้พัฒนาการทางกฎหมายมหาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่กระแสอำนาจนิยมอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 (ฉบับชั่วคราว) มาปกครองที่แฝงอำนาจนิยมรองรับอำนาจคณะปฏิวัติ (คปค.) และกลายเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ในรัฐธรรมนูญ 2549 (ฉบับชั่วคราว)
4.3 กฎหมายมหาชนกระแสการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550
นับแต่การมีรัฐธรรมนูญ 2549 (ฉบับชั่วคราว) ให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยมีการสรรหาบุคคลหลากหลายอาชีพ เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน โดยมีการการเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เลือกให้เหลือ 100 คน เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาและได้รับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2552 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550
เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับลงประชามติ) ที่พยามแก้ปัญหาจุดด้อยของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ เป็นการทำการเมืองโปร่งใส องค์กรอิสระเข้มแข็ง เพิ่มสิทธิเสรีภาพ ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ เพื่อประชาธิปไตยของปวงชน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญดังนี้
1. ให้มีผลบังคับทันที ต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ระบุความท้ายมาตราต่างๆว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
2. เพิ่มบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น รัฐต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการทุพทลภาพ ต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิประชาชนได้รับหลักประกันและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้สิทธิแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในการร่วมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิของตน
3. เพิ่มสิทธิชุมชน ชุมชนสามารถปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนหรือการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือทรัพยากรธรรมชาติ
4. เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ให้ประชาชนเขาชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ง่ายขึ้น ให้ประชาชนมีโอกาสยื่นเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยตรง รวมถึงการให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการการเมืองภาคพลเมือง เป็นต้น
5. กำหนดให้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆที่จะทำหรือไม่ก็ได้ เพิ่มเนื้อหามุ่งกระจายความเป็นธรรมในสังคมและปกป้องทรัพย์สินของชาติ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร การปฏิรูปที่ดิน จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง คุ้มครองสาธารณูปโภคข้นพื้นฐานไม่ให้ผูกขาด หรือหากรัฐบาลจะทำสนธิสัญญาที่มีผลต่อความมั่นคงทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เช่น เอฟทีเอ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นต้น
6. การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็ง เช่น ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงภรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตลอดจนคู่สมรสและบุตร ห้ามรับหรือแทรกแซงสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แสดงบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
สรุปได้ว่าพัฒนาการกฎหมายมหาชนในปัจจุบันของประเทศไทยนี้ได้รับแนวคิดปรัชญาหรือหลักการทางกฎหมายของต่างประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่อย่างไรหลักแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจนิยมที่มีอยู่ในสังคมไทยก็ยังฝังรากลึกอยู่ยากที่จะแก้ปัญหาได้เท่าใดนัก
Search