ที่มาของพระตรีมูรติ ยักษ์ นาค กินรี ฯลฯ
#ฝากกดไลก์ติดตามเพจนี้กันสักนิดนะครับ
#จะนำหนังสือน่าอ่านมาเล่าสู่กันฟังเนืองๆครับ :)
เทวตำนานในอริยวิถี
เอกชัย สถาพรธนพัฒน์: เขียน
สนพ.วิภาษา
---
นี่คือหนึ่งในหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินที่สุดในรอบปีนี้ หนังสือเชื่อมโยงเทวตำนาน งานศิลป์ วรรณกรรม วรรณคดี เกร็ดพุทธประวัติ ภูมิปัญญาตะวันออก ผีสางเทวดา ฯลฯ เข้าด้วยกันชวนให้หฤหรรษ์อย่างยิ่ง
อ่านแล้วจะเห็นการใช้เทวตำนานหรือเทพปกรณัมในการทำความเข้าใจเบื้องลึกในใจมนุษย์ ได้เห็นว่าเรื่องราวเหนือจริงเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์หรืออุปกรณ์ในการสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในใจคน
โครงเรื่องของเทวตำนานมักเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 'ดี' กับ 'ชั่ว' อันเป็นทวิภาวะ ซึ่งผสมผเสอยู่ในใจคนทุกคน จิตหนึ่งดวงจึงต้องตื่นรู้ผ่านอุปสรรคต่างๆ เพื่อบรรลุสู่ศานติ เมื่อเห็นมิตินี้ย่อมอ่านเทวตำนานในมุมใหม่ แทนที่จะคิดว่าเป็นจินตนาการไร้เหตุผล กลับกลายเป็นเรื่องราวเพื่อทบทวนสภาวะจิตใจตนเอง
...
หนังสือบอกเล่ารากที่มาของหลายสิ่งในวัฒนธรรมไทยซึ่งสืบต่อมาจากอินเดีย เช่น
+ คำว่า 'ภิกขุ' แปลว่า 'ผู้ขอ' เป็นรากศัพท์ของคำว่า Beggar หรือ 'ขอทาน' ซึ่งนับแต่สมัยก่อนพุทธกาลก็มีเหล่ากษัตริย์และชนชั้นสูงที่เบื่อหน่ายลาภยศแล้วออกบวชเป็นฤาษีมุนีเพื่อแสวงหาโมกษะกันอยู่แล้ว กิจที่พวกท่านทำคือภิกขาจาร หรือขอข้าวจากชางบ้าน เพื่อมุ่งหมายทำลายอัตตาตัวตน
+ จักร เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รูปจักรจึงถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประกาศพระธรรมคำสอนเพื่อหลุดพ้นจากทะเลทุกข์ ที่มาของจักรมาจากอานุภาพแห่งกงล้อขอรถม้าศึกที่ชาวอารยันรุกไล่ยึดครองที่ทำกินของชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำสินธุ จนก่อเกิดวัฒนธรรมพระเวท และระบบวรรณะขึ้นในชมพูทวีป
มาถึงตรงนี้ก็ขอเล่าเรื่องนี้จากเล่มนี้ต่อเลยแล้วกัน
...
ชมพูทวีปแต่เดิมเป็นที่อยู่ของชนเผ่าหลากหลาย ที่โดดเด่นคือชาวดราวิเดียน (ทราวิฑ) ซึ่งอพยพจากอิหร่านเข้ามาอินเดียช่วง 7,000 ปีก่อนพุทธกาล (9,000 กว่าปีนู้น)
ชาวทราวิฑชำนาญเรื่องเกษตรกรรม เป็นผู้ก่อรากฐานอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ นครฮารัปปา นครโมเฮนโจดาโร อันรุ่งเรืองก็ฝีมือของพวกเขา
ช่วง 3,000 ปีก่อนพุทธกาล ชาวอริยกะ (อารยัน) ชนเผ่าเร่ร่อนเชื้อสายอินโด-ยูโรเปียนซึ่งชำนาญการรบ ก็บุกเข้ามาด้วยธนูและรถศึก (ม้า+ล้อหมุน) ซึ่งเป็นนวัตกรรมล้ำยุคกว่าเจ้าถิ่น ก็ค่อยๆ รุกคืบแย่งชิงที่ทำกินเหนือชาวทราวิฑ
ชาวอารยันเหมาเรียกคนพื้นเมืองว่า 'มิลักขุ' มีความหมายเชิงกดข่มว่า 'พวกคนเศร้าหมอง ผิวดำ อัปลักษณ์ และป่าเถื่อน' ฝั่งอารยันนั้นผิวขาว สูง จมูกโด่ง ตาฟ้า ผมทอง
ชาวทราวิฑส่วนหนึ่งไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจ บ้างต่อสู้ บ้างย้ายถิ่นถอยไปทางใต้กลายเป็นต้นกำเนิดของชาวทมิฬ สิงหล และลังกา
พวกที่ยอมแพ้ก็กลายเป็นทาส ก่อเกิดระบบทาสและวรรณะ เกิดศัพท์เหยียดหยามที่ใช้เรียกชนพื้นเมือง เช่น คนธรรพ์ กินนร อัปสร ยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค จำพวกนี้ขึ้น (เริ่มสนุกแล้วสิ)
...
อัปสรและคนธรรพ์ จึงไม่ได้มีแค่ในวรรณคดีเท่านั้น แต่เป็นคำเรียกเชิงหมิ่นหยามว่าเป็นพวกคนป่าดงดอยที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ชำนาญเรื่องร้องรำทำเพลง แต่่ด้อยอารยธรรม (ที่ด้อยกว่าคือการรบน่ะนะ) ชาวอารยันจึงทำมาบำเรอเรื่องระบำรำฟ้อนและกามารมณ์
กินนร กินรี เป็นคนธรรพ์พวกหนึ่ง ในวรรณคดีไทยคืออมนุษย์ (ครึ่งคน-ครึ่งนก) แต่ในวรรณกรรมอินเดียบอกว่า หัวเป็นม้าตัวเป็นคน ตามรากศัพท์ 'กิ' หรือ 'กิง' แปลว่า 'อะไร' ส่วน 'นร' (นอ-ระ) แปลว่า 'คน' รวมแล้วเป็น 'คนอัลไล' ก็เหยียดหยามเหมือนกัน ใช้เรียกคนที่มีสันดานชั่วร้าย
ยักษ์ รากษส ใช้เรียกทราวิฑที่ไม่ยอมแพ้ชาวอารยันง่ายๆ ต่อต้าน ทำลายทรัพย์สิน แย่งชิงเสบียง ดุร้ายป่าเถื่อน ภาพลักษณ์ของยักษ์ในวรรณคดีจึงจับคนไปกิน ส่วนกุมภัณฑ์คือพวกเคยต่อต้านแล้วกลับใจมายอมแพ้ ในวรรณคดีจึงเป็นยักษ์ที่คอยรับใช้เทพเจ้า
นาค ใช้เรียกชาวพื้นเมืองที่ดุร้ายป่าเถื่อน (อันนี้เขียนเล่าได้อีกหนึ่งโพสต์ยาวๆ) เดิมคำนี้ออกเสียงว่า 'น็อก' หรือ ng เป็นรากศัพท์ของคำว่า Naked หรือเปลือย เพราะชนพื้นเมืองไม่รู้จักสวมเสื้อผ้า อยู่ลึกลับตามป่าเขา ซุ่มทำร้าย จึงใช้ภาพงูเป็นตัวแทนสัตว์มีพิษที่ซ่อนตัวในที่ลับ นาคในวรรณกรรมอินเดียจะเป็นพญางูซึ่งมีพิษร้าย แต่ยอมสยบเป็นบริวารแก่มหาเทพ
นี่คือการใช้ศัพท์เพื่อปกครอง ใช้วรรณกรรมเพื่อแสดงอำนาจระหว่างผู้มาใหม่ที่มายึดพื้นที่ของชนดั้งเดิม
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเริ่มรู้สึกว่า ต้องอ่านรามเกียรติ์สนุกขึ้นอีกเยอะเลย
...
ชาวทราวิฑมีพื้นฐานเป็นสังคมเกษตรกรรม เทพเจ้าของพวกเขาจึงเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เทวะบนฟ้า เทวะในอากาศ เทวะบนผืนดิน
พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระวรุณ (ฝน) พระอัคนี พระแม่ธรณี พระคงคา เหล่านี้คือเทพเจ้าของชาวทราวิฑ ผูกพันกับการเกษตรและการมีชีวิตรอด มักเปรียบเทียบธรรมชาติเป็นแม่ วิธีบูชาคือนอบน้อมกตัญญู
ฝ่ายอารยันนับถือพระเทพบิดร คือ อินทรา (พระอินทร์) ซึ่งเป็นเทพแห่งสงครามผู้มีชัยต่อการปกป้องและช่วงชิงดินแดนจากศัตรู วิธีบูชาคือบวงสรวงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
ฝ่ายหนึ่งคือ 'ผู้ให้' อีกฝ่ายคือ 'ผู้แย่งชิง' พอผสมกันก็จะเป็นความเชื่อที่ออกมาในรูป 'ศักติเทวะ' คือพลังชั้วบวกและขั้วลบ เป็นทวิภาวะที่แตกต่างกัน เหล่าทวยเทพจึงมีพระชายาอยู่เคียงข้างตั้งแต่นั้นมา
นี่คือการผสานสองเทพจากสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกันโดยไม่ทิ้งเทพของชนพื้นเมืองเดิม
...
พระอินทร์ผู้เคยมีฐานะเป็นเอกเทวะ (ใหญ่สุดผู้เดียว) กลับกลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มไตรเทวะ อันประกอบด้วยพระอัคนี พระสุริยเทพ และพระอินทร์ ในเวลาต่อมาจึงถูกแทนที่ด้วย 'ตรีมูรติ' คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพในคติทางพระเวทยุคใหม่ที่เราคุ้นเคยกัน
ตรีมูรติ คือสัจธรรมทางพลังอำนาจเหนือสรรพสิ่ง ประกอบด้วยผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย ซึ่งก็คือธรรมชาติแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ฉะนี้แล
...
สนุกมากครับ ขอแนะนำสำหรับคนที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับรากวัฒนธรรมบ้านเราที่สืบเนื่องมาจากอินเดีย และวัฒนธรรมพราหมณ์-พุทธ
อ่านแล้วจะได้เห็นเรื่องราวรอบตัวในแง่มุมใหม่ (ซึ่งเป็นมุมดั้งเดิม) สิ่งที่เคยคิดว่างมงายไร้สาระกลับกลายเป็นสิ่งสอนใจหรือเตือนให้สังเกตใจตนเองได้อย่างดี
อ่านเป็นหนังสือวิชาการก็ได้ เป็นหนังสือธรรมะก็ดี
ไม่ว่าเทพหรือมาร สุดท้ายแล้วก็รบกันอยู่ในใจเรานี้แล
#นิ้วกลมอ่าน
#ว่างๆจะหยิบเล่มนี้มาเล่าอีกครับ
Search
ว่างๆจะหยิบเล่มนี้มาเล่าอีกครับ 在 ENTER BOOKS - ⚡️ ว่างๆ แบบนี้ เฮียอยากหยิบ ... - Facebook 的推薦與評價
ว่างๆ แบบนี้ เฮียอยากหยิบ #เทพพยากรณ์ผู้ซ่อนเร้น มาเล่าถึงสักหน่อย ⚡️ . ⚡️ ก่อนการมาถึงของเล่มนี้ หลายคนน่าจะเคยผ่านภาค #เพอร์ซีย์แจ็กสัน... ... <看更多>